(1) รูปแบบของภัยคุกคามและสภาวะแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้งานต้องสามารถช่วยให้กองทัพมีความอ่อนตัว (flexibility) มีความสามารถรอบตัว (versatile) มีความคล่องแคล่วว่องไว (agile) เพื่อรองรับกับภารกิจที่หลายในปัจจุบันและอนาคต
(2) รูปแบบของการรบในปัจจุบันและอนาคตมีลักษณะเป็นการรบร่วม (joint warfare) กำลังทางอากาศหรือกำลังทางเรือที่ให้การสนับสนุนหน่วยกำลังภาคพื้นที่เข้าทำการรบต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดความแม่นยำ (precision) ในการโจมตี เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้งานต้องเป็นเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความแม่นยำ
(3) สารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบันที่สามารถกำหนดทิศทางของการรบ การได้มาซึ่งสารสนเทศเป็นสิ่งที่จำเป็นดังนั้นเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้งานจะต้องช่วยให้กระบวนการผลิตสารสนเทศมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น การรวบรวมข่าวกรองและข้อมูล การจัดเก็บและประมวลผล การสนับสนุนการตัดสินใจ การแจกจ่ายและนำไปใช้งาน
(4) การเคลื่อนย้ายกำลังทหารและสิ่งอุปกรณ์ทางทหารเป็นสิ่งที่ช่วยให้การรบเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีจะต้องเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการส่งกำลังบำรุง (logistic and support) สำหรับการดำเนินการเหล่านี้ในภาคธุรกิจจะเรียกว่าการจัดการโซ่อุปทาน (supply chain management) ซึ่งได้มีการพัฒนารูปแบบในการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และในบางเรื่องสามารถดำเนินการได้ดีกว่ากองทัพเพราะว่าสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วโดยมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ากองทัพดำเนินการเองมาก
(5) ค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้งานและเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะฉะนั้นการเลือกเทคโนโลยีจะต้องพิจารณาว่า รัฐหรือกองทัพสามารถรองรับการนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้งานได้
จากผลกระทบต่าง ๆ และแนวความคิดในการเลือกเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้งาน กองทัพเองต้องมีความรู้ความเข้าใจประกอบกับมีการกำหนดแผนการดำเนินการที่ชัดเจน เพราะเป็นการลงทุนด้วยงบประมาณที่สูง สำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกิจการทหารจะเทคโนโลยีเหล่านี้มีการกล่าวถึงในบทความเรื่อง “Technology, Transformation, and New Operational Concepts” โดย เอลริฮู ซิเม็ท (Elihu Zimet) และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Defense Horizons ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 ที่ผ่านมา สำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในกิจการทหารตามแนวคิดของเอลริฮูมีดังต่อไปนี้
- เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology): เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ล้วนแต่ส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินสงคราม โดยเทคโนโลยีสารสนเทศเปรียบเสมือนเครื่องมือช่วยในการส่งและรับข้อมูล การประมวลผล และ การแจกจ่ายสารสนเทศเพื่อนำไปใช้งานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา การมีสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางสารสนเทศด้านต่าง ๆ ของผู้ใช้งานในระดับต่าง ย่อมส่งผลให้กองทัพของฝ่ายเรามีความเหนือกว่าทางสารสนเทศ และในปัจจุบันกองทัพต่าง ๆ หลายประเทศเชื่อกันว่าการครองความเหนือกว่าทางสารสนเทศเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดชัยชนะและสูญเสียน้อยในการเข้าทำสงคราม
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการปฏิบัติการทางทหารในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่ระบบสารสนเทศที่เชื่อมต่อกันบนระบบเครือข่าย เพราะการเชื่อมต่อกันจะช่วยให้ ข้อมูล ข่าวกรอง สารสนเทศ และองค์ความรู้ สามารถไหลเวียนไปมายังระบบต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อได้ แนวความคิดเหล่านี้จะเรียกว่า สงครามศูนย์รวมระบบเครือข่าย หรือ Network Centric Warfare โดยระบบสารสนเทศและระบบเครือข่ายที่ต้องการจะมีคุณสมบัติดังนี้ (1) ความสามารถในการกู้คืนด้วยตัวเอง เคลื่อนที่ ไร้สาย ปรับแต่งง่าย และ ปลอดภัย (2) กระจายอย่างทั่วถึงด้วยความสามารถในการเคลื่อนที่พร้อมกับเชื่อมต่อด้วยเซนเซอร์ (3) กระจายเครื่องมือในการทำงานร่วมกันเพื่อใช้ในการตัดสินใจ (4) ประกันว่าสารสนเทศมีความสมบูรณ์ถูกต้องและน่าเชื่อถือ (5) สามารถตรวจตราและคาดการณ์สภาวะแวดล้อมของพื้นที่การรบได้
- เทคโนโลยีทางด้านวัสดุ (Material Technology): ถึงแม้เทคโนโลยีทางด้านวัสดุใหม่ ๆ จะไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงในกิจการทหาร แต่เทคโนโลยีทางด้านวัสดุก็ถือเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกิจการทหาร สำหรับเทคโนโลยีทางด้านวัสดุนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) วัสดุทางการทำงาน (Functional Materials) เทคโนโลยีของวัสดุประเภทนี้เป็นวัสดุหลักที่ใช้ในอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ เช่น ทรานซิสเตอร์ ใยแก้วนำแสง จอภาพ ฯลฯ วัสดุประเภทนี้จะช่วยให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายทำงานเร็วขึ้น รับ/ส่งคอมพิวเตอร์ได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ (2) วัสดุทางโครงสร้าง (Structural Materials) เทคโนโลยีวัสดุประเภทนี้เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงสร้างของตัววัสดุเช่น การทำให้วัสดุมีความแข็งขึ้น เบาลง บางลง เล็กลง หรือ เรื่องที่เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางด้านวัสดุทั้ง 2 ประเภทจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบอาวุธ ระบบกานควบคุมบังคับบัญชา และรูปแบบของการดำเนินกลยุทธ์อีกด้วย
- เทคโนโลยีทางด้านพลังงานและการขับเคลื่อน (Energy and Propulsion Technology): การพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและการขับเคลื่อนมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินสงคราม สำหรับทศวรรษนี้จะให้ความสนใจกับ (1) แหล่งพลังงานที่เบา เล็ก และใช้งานได้นาน (compact, lightweight, long-lasting energy sources) แนวความคิดที่จะใช้พลังงานอื่นทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เป็นแนวคิดที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติการทางทหารมีความต้องการเทคโนโลยีแบตเตอร์รี่ที่น้ำหนักเบาใช้งานได้นาน เพื่อลดปัญหาของการส่งกำลังบำรุง (2) เทคโนโลยีการขับเคลื่อนชั้นสูงสำหรับ อากาศยาน ขีปนาวุธ และ การเข้าสู่ห้วงอวกาศ (advance propulsion for aircraft, missiles, and access to space) ความต้องการในการลดเวลาเดินทางของอากาศยาน หรือ ขีปนาวุธร่อน (cruise missiles) เพื่อช่วยให้รอดพ้นจากการตรวจจับจากฝ่ายข้าศึก
- เทคโนโลยีทางด้านขีดความสามารถของมนุษย์ (Human Performance Technology): การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ การพัฒนาทักษะและความสามารถของมนุษย์จึงมีความสำคัญ การมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมสามารถช่วยฝึกฝนให้มนุษย์มีความชำนาญสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ (1) การฝึกฝนในระบบเสมือนและการศึกษาแบบกระจาย (immersive virtual training and distributed learning) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาให้มนุษย์หรือทหารมีทักษะในเรื่องต่างที่ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงกับสถานการณ์จริง หรือ ฝึกฝนให้เกิดความชำนาญก่อนที่จะไปฝึกกับยุทโธปกรณ์จริงที่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่น การขับเครื่องบินรบ (2) การเพิ่มพูนขีดความสามารถของมนุษย์ (enhanced human performance) เป็นสิ่งแนวคิดที่มุ่งพัฒนาในเรื่องของอารมณ์และร่างกาย เพื่อให้ทหารสามารถปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่ยากลำบาก อันตราย กดดัน ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology): การนำเทคโนโลยีชีวิภาพมาใช้ในกิจการทหารเป็นเรื่องที่มีมานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาวุธเชื่อโรค การรักษาบาดแผลจากการสู้รบ หรือ สงครามชีวภาพ สำหรับทศวรรษนี้จะให้ความสนใจกับเรื่องของ (1) เทคโนโลยีเภสัชกรรมชั้นสูงและเวชกรรมป้องกัน (advanced military medicine and protection) เรื่องของยารักษาโรคและเวชกรรมป้องกันยังคงเป็นเรื่องที่มีการวิจัยอยู่ตลอดเวลา ดังตัวอย่างเช่น การรักษาแผลบนร่างกายมนุษย์ให้เร็วขึ้นด้วยการรักษาภายใต้แสงจาก LED (light-emitting diodes) หรือการใช้วัสดุทางชีวะชลอการไหลของเลือดที่ออกจากบาดแผล เป็นต้น (2) ชีววิทยาที่ไม่เกี่ยวข้องกับเภสัชกรรม (nonmedical biotechnologies) เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัสดุและอุปกรณ์ตรวจจับในสนามรบ เช่น การใช้แบคทีเรีย bacteriorhodopsin ในการดูดซับไมโครเวฟ ในย่าน X band และสูงกว่าหรือทำเป็นหน่วยความจำ การพัฒนาอุปกรณ์ตรวจจับจากวัสดุชีวะ (biosensors) ที่ใช้ในการตรวจจับอาวุธเคมีหรืออาวุธเชื้อโรค (3) เทคโนโลยีการจำลองทางชีวะ (biomimetic technologies) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ลักษณะของเทคโนโลยีนี้ได้แก่ การจำลองโซนาร์ชีวะ (biosonar) หรือ เรดาร์ชีวะ (bioradar) ที่มีอยู่ในสัตว์ เพื่อนำมาใช้เป็นอุปกรณ์การตรวจจับ
- เทคโนโลยีระบบดัดแปลง (Derivative System Technology): เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผสมผสานเทคโนโลยีที่แตกต่างหลากหลายเข้าด้วยกับเพื่อพัฒนาเป็นระบบแล้วนำมาใช้งาน เช่น (1) ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ ยานไร้คนขับ (automated system, robotics, unmanned vehicles) เป็นเทคโนโลยีที่นำความรู้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence, AI) มาผสมผสานกับแนวคิดในเรื่องระบบควบคุม (control system) เพื่อพัฒนาระบบอาวุธใหม่ที่มีความฉลาด (smart weapon) สามารถตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ (2) ระบบทางอวกาศ (space-based systems) เป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับสงครามศูนย์รวมระบบเครือข่าย (network centric warfare) ด้วยการใช้ห้วงอวกาศเพื่อให้หน่วยในระดับต่าง ๆ สามารถติดต่อกันได้ (3) บูรณาการยานกำเนิดไฟฟ้า ระบบควบคุมบังคับบัญชา และระบบอาวุธ (Integrated electric vehicles, C4ISR, and weapons) เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานระบบอาวุธเข้ากับระบบควบคุมบังคับบัญชาและแหล่งพลังงานคลื่นไฟฟ้า เข้าด้วยกัน และยังเลยไปถึงการพัฒนาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสงครามอิเลคโทรนิคส์ (4) กระสุนแม่นยำ (precision munitions) เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความแม่นยำของระบบอาวุธที่ผสมผสานเรื่องป้องกันการรบกวนจากสงครามอิเลคโทรนิคส์
ที่มา...http://tortaharn.net/contents/index.php?option=com_content&task=view&id=42&Itemid=75

ที่มา....http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1369808436&grpid=03&catid=03
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น